ในสภาวการณ์ที่โลกร้อนมากขึ้นทุกปีแบบนี้ การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ ด้วยการคิดค้นหาวิธีที่จะช่วยให้ทรัพยากรคงอยู่ จนเกิดเป็นพลังงานทดแทน ที่จะทำให้ลดปัญหาการขาดแคลนพลังงาน รวมถึงลดมลพิษให้กับโลกด้วย
พลังงานทดแทนคืออะไร?
พลังงานทดแทน หรือพลังงานทางเลือก คือพลังงานที่มีอยู่ตามธรรมชาติและสามารถนำไปใช้ทดแทนพลังงานแบบเดิมได้แบบไม่จำกัด โดยพลังงานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพลังงานที่ได้จากฟอสซิลเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ถ่านหิน ปิโตรเลียม และแก๊สธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดมลพิษและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกซึ่งเป็นปัญหาของการเกิดภาวะโลกร้อนนั่นเอง
พลังงานทดแทนมีอะไรบ้าง?
พลังงานทดแทนสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท โดยแบ่งตามลักษณะปริมาณการใช้งานของพลังงาน ดังนี้
- พลังงานทดแทนจากแหล่งที่ใช้แล้วหมดไป
พลังงานทดแทนจากแหล่งที่ใช้แล้วหมดไป ได้แก่ ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ น้ำมัน
- พลังงานหมุนเวียน
พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานตามธรรมชาติที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และปัจจุบันนี้พลังงานหมุนเวียนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นพลังงานที่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานได้ และช่วยลดมลพิษด้วย ซึ่งพลังงานหมุนเวียนมีหลายประเภทด้วยกัน ดังนี้
- พลังงานแสงอาทิตย์
พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โซลาร์เซลล์ ซึ่งข้อจำกัดของพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ความเข้มของแสง ช่วงเวลาต่างๆของวัน แต่ละฤดู แต่ละภูมิประเทศ อย่างที่รู้กันว่าประเทศไทยเป็นเมืองร้อนอยู่แล้วและตั้งอยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร จึงมีความเข้มข้นของแสงที่เพียงพอต่อการใช้ระบบโซลาร์เซลล์
โดยการใช้ระบบโซลาร์เซลล์นี้ ไม่มีการปล่อยมลพิษหรือแก๊สเรือนกระจกแต่อย่างใด และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก มีเพียงแค่ผลกระทบขณะอยู่ในกระบวนการผลิตแผงโซลาร์เซลล์เท่านั้น
- พลังงานลม
พลังงานลมสามารถนำไปใช้ได้หลากหลาย รวมถึงใช้เป็นกระแสไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีของกังหันลม ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่มีลักษณะเป็นใบพัดรับแรงเคลื่อนที่ของลม และเปลี่ยนพลังงานจลน์ จากการเคลื่อนที่ของลมให้กลายเป็นพลังงานกล ในการหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อเปลี่ยนพลังงานลมเป็นพลังงานไฟฟ้าและนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การสูบน้ำ การบดหรือสีเมล็ดพันธุ์พืช หรือกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ในประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากพลังงานลมค่อนข้างน้อย เนื่องจากปัญหาด้านของความเร็วลมที่ค่อนข้างน้อย
- พลังงานน้ำ
พลังงานน้ำเป็นพลังงานทดแทนที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของน้ำจากที่สูงลงต่ำ โดยเริ่มจากการใช้หมุนกังหันน้ำก่อน และในปัจจุบันได้ใช้พลังงานน้ำไปหมุนกังหันเพื่อการผลิตไฟฟ้า โดยพลังงานน้ำจากเขื่อนเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ถูกผลิตมากที่สุดในประเทศไทย
- พลังงานชีวมวล
พลังงานชีวมวลเป็นพลังงานทดแทนที่เกิดจากการเผา โดยนำเชื้อเพลิงจากของเหลือทิ้ง เช่น ไม้ แกลบ กากอ้อย เศษไม้ ที่เหลือทิ้งมาเผา โดยพลังงานชีวมวลจะถูกนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ถึงแม้ว่าพลังงานชีวมวลจะเป็นพลังงานทดแทน แต่ก็ไม่ได้เป็นพลังงานสะอาดเลยสักทีเดียว เพราะการผลิตพลังงานชีวมวลบางชนิด เช่น จากการเผาต้นไม้ เป็นการส่งเสริมให้มีการตัดไม้ทำลายป่า แล้วยังมีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกมามากกว่าการใช้น้ำมัน และถ่านหิน แต่ก็มีพลังงานชีวมวลบางประเภทที่มีอัตราการปล่อยแก๊สเรือนกระจกต่ำมาก
- พลังงานความร้อนใต้พิภพ
พลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นพลังงานทดแทนที่เกิดจากความร้อนใต้พื้นโลก เกิดจากการที่น้ำไหลซึมเข้าไปอยู่ที่ชั้นหินอุ้มน้ำ และความร้อนใต้ผิวโลกทำให้น้ำระเหยเป็นไอ โดยไอน้ำบางส่วนไม่สามารถลอดออกมาได้ จึงทำให้มีไอน้ำบางส่วนถูกกักเก็บไว้ใต้ชั้นหินเกิดเป็นความร้อนใต้พิภพ จากนั้นเจาะหลุมลงไปเพื่อนำเอาไอน้ำแรงดันสูงไปหมุนกังหัน เพื่อให้พลังงานกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า