ปัจจุบันนี้อะไรที่ช่วยประหยัดพลังงานและลดการใช้ไฟฟ้าได้ คนก็มักจะทำกันเยอะ เห็นได้จากที่มีบ้านหลายๆหลังนิยมติดโซลาร์เซลล์กันบ้างแล้ว โดยโซลาร์เซลล์จะเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานกระแสไฟฟ้า และทำการเก็บสำรองไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ จากนั้นจะมีการเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าตรงให้เป็นกระแสไฟฟ้าสลับ ทำให้คุณสามารถนำกระแสไฟฟ้ามาใช้กับอุปกรณ์ภายในบ้านได้ ซึ่งวิธีนี้ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้านไปได้มากทีเดียว อีกทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดการผลิตพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย
แต่การติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้นไม่ใช่ว่าคิดอยากจะติดก็ติดได้เลย เนื่องจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นการติดตั้งแบบระยะยาว 25 – 30 ปี ดังนั้นต้องคิดถึงความคุ้มค่า และต้องพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 10 เรื่องต้องรู้ก่อนติดโซลาร์เซลล์ให้กับคนที่กำลังมีความคิดจะติดตั้งโซลาเซลล์ เพื่อให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
- สำรวจความพร้อมของสถานที่ติดตั้ง
การสำรวจความพร้อมของสถานที่จะทำให้คุณรู้ว่าสามารถทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านได้หรือไม่ โดยสำรวจความแข็งแรงของหลังคาว่าแข็งแรงพอที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นเวลาหลายสิบปี โดยที่ไม่เกิดผลกระทบจากการรับน้ำหนักในภายหลัง เนื่องจากมาตรฐานของแผ่นโซลาร์เซลล์จะมีขนาดอยู่ที่ 1×2 เมตร และ 1 แผ่น จะมีน้ำหนักประมาณ 22 กิโลกรัม หากมีรอยร้าว รอยแตก รอยรั่วก็ให้ทำการซ่อมแซมเสียก่อน นอกจากนี้ก็ต้องดูทิศทางการรับแสงจากดวงอาทิตย์ด้วย หากมีสิ่งกีดขวางในการรับแสง เช่น ต้นไม้ เสาอากาศ หรือดาวเทียม ก็จะทำให้โซลาร์เซลล์ใช้งานได้อย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยทิศทางที่ควรติดตั้งมากที่สุด คือ ทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้
- เช็คพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของที่บ้าน
เมื่อสำรวจความพร้อมของสถานที่ติดตั้งแล้ว ต่อไปก็ให้มาเช็คพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของที่บ้าน ด้วยการดูบิลไฟฟ้า ย้อนหลัง 3 เดือน – 1 ปี ว่าใช้ไฟฟ้าไปในปริมาณเท่าใด เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการตัดสินใจว่าจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิตไฟเท่าไหร่ดี
- สำรวจปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งกลางวันและกลางคืน
ลองดูว่าในเวลากลางวันคุณใช้ไฟฟ้าไปมากน้อยแค่ไหน แล้วเอามาเปรียบเทียบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางคืน ก็จะเห็นแล้วว่าคุณสามารถลดค่าไฟฟ้าช่วงกลางวันไปได้เท่าไหร่หากติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
- ความคุ้มค่าในการติดตั้ง
การติดตั้งโซลาร์เซลล์ช่วยประหยัดพลังงานและไฟฟ้าได้ก็จริง แต่ก็ต้องคำนวณออกมาให้เห็นตัวเลขด้วยว่าคุ้มค่าในการติดตั้งหรือไม่ และหากอนาคตจะไม่ใช้งานโซลาร์เซลล์แล้ว สามารถนำไปขายให้กับรัฐบาลได้หรือไม่ด้วย
- ดูเรื่องความสวยงาม
แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาต้องดูสวยงามกลมกลืนไปกับบ้าน โดยไม่ขัดตามากนัก อย่างหลังคาเพิงแหงนและหลังคาทรงจั่ว สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้สวยที่สุด, หลังคาทรงปั้นหยา ควรติดตั้งเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เพื่อไม่ให้ทำลายความสวยงามของตัวบ้าน ส่วนหลังคาทรงมะลิลาต้องใช้การออกแบบให้กลมกลืนเล็กน้อย
- รู้จักแผงโซลาร์เซลล์แต่ละประเภท
แผงโซลาร์เซลล์ที่นิยมใช้ในประเทศไทย มีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
- แผงโมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells) มีคุณภาพสูง สามารถผลิตไฟได้ดีแม้มีแสงน้อย อายุการใช้งานยาวนานหลายสิบปี ข้อเสียคือ หากมีคราบสกปรกบนแผงเป็นเวลานาน จะทำให้ระบบอินเวอร์เตอร์ไหม้ได้ และค่อนข้างมีราคาที่สูง
- แผงโพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells) เป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถใช้งานในพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงกว่าแผงคริสตัลไลน์เล็กน้อย มีราคาไม่แพง แต่ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 13-16% และมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างสั้นเพียง 20-25 ปี
- แผงโซลาร์เซลล์ชนิด ฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells) มีน้ำหนักเบา สามารถโค้งงอได้ดี ทนต่ออากาศร้อน ราคาถูก แต่ผลิตไฟฟ้าได้น้อย อายุการใช้งานสั้น และไม่เหมาะต่อการติดตั้งในภาคอุสาหกรรมและบ้านเรือน
- เช็คค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง
ปัจจุบันนี้ราคาค่าอุปกรณ์โซลาร์เซลล์และการติดตั้งไม่ได้แพงมากแล้ว หากต้องการใช้งานไม่มากก็สามารถซื้ออุปกรณ์และมาติดตั้งเองได้ ก็ช่วยประหยัดเงินไปได้อีก ราคาของแผงและระบบขึ้นอยู่กับจำนวนพลังงานที่ต้องการใช้ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากบิลค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนว่าใช้ไฟประมาณกี่หน่วย โดยอาจเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เท่าที่ใช้ในแต่ละเดือน หรืออาจเลือกติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้สำหรับสำรองในการใช้งานช่วงกลางวันก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งระบบ Hybrid จะมีราคาสูงมากที่สุด และมีผู้ผลิตให้เลือกมากมายในตลาด
- เลือกผู้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์
การเลือกผู้ให้บริการที่จะทำการติดโซลาร์เซลล์บ้านให้กับคุณ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาด้วยปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- ความน่าเชื่อถือของผู้ติดตั้ง หลายๆบ้านเริ่มสนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์กันเยอะขึ้น จึงทำให้ในตลาดมีผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์เยอะตามไปด้วย แต่ทั้งนี้คุณควรเลือกผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญ และน่าเชื่อถือ เพราะการติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นการติดตั้งระยะยาว จึงต้องใช้ความชำนาญและได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง
- เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ผู้ให้บริการจากหลากหลายบริษัท มีการบริการและราคาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น คุณควรทำการเลือกผู้ให้บริการอย่างน้อย 2 – 3 บริษัท แล้วทำการเปรียบเทียบราคา ข้อดี ข้อเสีย การให้บริการอื่นๆ เพิ่มเติมก่อนตัดสินใจ
- การให้บริการหลังการขาย และการรับประกัน โดยปกติการรับประกันจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ รับประกันสินค้า 10 ปี รับประกันประสิทธิภาพของแผง 25 ปี แต่บางผู้ให้บริการอาจมีระยะเวลาในการรับประกันแตกต่างกัน และมีการรับประกันอุปกรณ์อื่นๆร่วมด้วย
- ทำเรื่องขอติดตั้ง
การทำเรื่องขอติดตั้งโซลาร์เซลล์ต้องใช้เวลานานถึง 1 – 2 เดือน และรายละเอียดของการขออนุญาตนั้น อาจจะแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แต่หากเป็นการติดโซลาร์เซลล์ที่ใช้สำหรับบุคคลจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เข้าไปทำการสำรวจสถานที่ ทำการวัดขนาด และทิศทางของการติดตั้งเสียก่อน จากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการยื่นเอกสารที่การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- การดูแล
เมื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ไว้ที่บ้านแล้วก็ต้องหมั่นดูแล ตรวจสอบสภาพแผงโซลาร์เซลล์อยู่เสมอ เพราะหากขาดการดูแลและตรวจสอบเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้การทำงานและประสิทธิภาพการรับแสงน้อยลง โดยการใช้น้ำยาทำความสะอาดแบบอ่อนอย่างน้ำสบู่หรือน้ำยาเช็ดกระจก จากนั้นเช็ดให้แห้ง แต่ห้ามใช้น้ำยาที่มีการกัดกร่อนสูงเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายกับแผงโซลาร์เซลล์ได้